“การผสมผสานวัสดุที่ใช้” เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ใช้ได้ดีกับสินค้าประเภทงานฝีมือ เพราะไม่เพียงจะช่วยสร้างเอกลักษณ์ให้กับชิ้นงานที่ทำขึ้น แต่ยังช่วยทำให้สินค้าหลากหลาย ใช้เป็น “จุดขาย-จุดเด่น” ได้อย่างดี อย่างเช่น “กระเป๋าทำจากหนังและกระดาษ” ของ “กัญชลี-ธรรศ แดงกุล” สองพี่น้องเจ้าของไอเดียนี้ ซึ่งวันนี้คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอ...
กัญชลีกับธรรศ สองพี่น้องเจ้าของงานกระเป๋าที่ใช้ชื่อสินค้า “GOYA” เล่าว่า...หลังเรียนจบมีความต้องการที่จะทำธุรกิจของตนเอง ซึ่งทั้งคู่สนใจงานที่เกี่ยวกับ “การทำกระเป๋า” จึงควงแขนเข้าไปอบรมเรียนรู้ขั้นตอนต่าง ๆ เกี่ยวกับด้านนี้ โดยใช้เวลาเรียนอยู่ประมาณ 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็พยายามค้นหา “รูปแบบงานกระเป๋า” ที่ต้องการจะทำ ซึ่งเธอทั้งคู่ได้ปรึกษากันก็ค้นพบว่า...น่าจะเริ่มจาก “กระเป๋าทำมือ” โดยมองไปที่วัสดุอย่าง “หนังฟอกฟัด” ที่ส่วนใหญ่ใช้ในการทำกระเป๋าหนัง แต่ด้วยความที่วัสดุนี้มีราคาสูง ซึ่งอาจทำให้กลุ่มผู้ซื้อแคบลงไปด้วย จึงมองหาวัสดุชนิดอื่นที่มีต้นทุนน้อยกว่า แต่ยังต้องการคงเอกลักษณ์ของวัสดุหนังไว้ สุดท้ายจึงตัดสินใจนำ “กระดาษ” เข้ามาผสมผสานกับ “วัสดุหนัง” จนเกิดเป็นชิ้นงานดังกล่าวขึ้นมา
“มองหาวัสดุอยู่หลายชนิด มาสะดุดตากับแท็กที่เย็บติดอยู่กับกางเกงยีน ซึ่งเป็นวัสดุที่เรียกว่า... กระดาษปะเก็น ลักษณะของกระดาษนี้ จะมีผิวเรียบและมีเนื้อกระดาษที่แข็งมาก แต่เมื่อนำมาซักแล้วกระดาษจะนิ่มและนำมาจัดเข้าทรงทำเป็นกระเป๋าได้ง่าย จึงลองนำมาใช้กับงานกระเป๋า ทดลองทำอยู่นาน 3 เดือนจนได้ชิ้นงานที่พอใจออกมาอย่างที่เห็น”...เป็น “ความช่างสังเกต” ของสองพี่น้องคู่นี้ ที่ทำให้ค้นพบ “วัสดุแปลกใหม่” นำมาใช้ในงานกระเป๋า
ที่หลาย ๆ ครั้งชิ้นงานที่สร้างสรรค์ก็เกิดจากจุดนี้
หลังจากผลิตชิ้นงานได้มากขึ้น จึงนำสินค้าทดลองขายผ่านช่องทางออนไลน์คือ ที่ www.facebook.com/goyabag และ ทาง อินสตาแกรมที่ใช้ชื่อว่า goyabag ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้ามาก นอกจากช่องทางดังกล่าวก็ยังนำงานไปฝากวางขายตามร้านที่รู้จัก หรือร้านที่จำหน่ายสินค้าประเภทนี้...เพื่อทำให้คนรู้จักสินค้าของทั้งคู่มากขึ้น
ทุนเบื้องต้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ ทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 40% จากราคาขาย ซึ่งราคาขายอยู่ที่ใบละ 1,350-3,150 บาท ขึ้นกับขนาดและวัสดุที่ใช้ โดยตอนนี้มีอยู่ 2 ขนาดคือ ไซซ์เอส ขนาดเท่ากระดาษ A4 และ ไซซ์เอ็ม ที่มีขนาดเท่ากับกระดาษ A3
วัสดุอุปกรณ์ ที่จำเป็น ประกอบด้วย หนังวัวแท้, กระดาษ
ปะเก็น, ผ้าซับกระเป๋า, กระดาษ, ดินสอ, เชือกเทียน, เข็มถักนิตติ้ง, ค้อน, ส้อมตอกหนัง, กรรไกร, คัตเตอร์, กาวยาง, ไฟแช็ก, มีดมาร์คจุด, แผ่นรองก้นกระเป๋า
ขั้นตอนการทำ เริ่มจากใช้ดินสอวาดแบบหรือแพตเทิร์นกระเป๋าลงบนกระดาษ จากนั้นตัดแพตเทิร์น และนำมาทาบลงบนหนัง ทำการมาร์คจุด แล้วตัดหนังตามแพตเทิร์นให้ได้จำนวน 1 แผ่น ใช้มีดมาร์คจุดตำแหน่งที่ต้องการเย็บ ต่อมาให้นำกระดาษปะเก็นไปซักทำความสะอาด 1 ครั้ง รอจนกระดาษแห้ง แล้วนำแพตเทิร์นกระเป๋าไปทาบลงบนกระดาษ จากนั้นทำการตัดกระดาษให้ได้จำนวน 2 แผ่น ใช้มีดมาร์คจุดที่ต้องการเย็บบนกระดาษทั้ง 2 แผ่น แล้วนำผ้าซับกระเป๋ากับแผ่นรองก้นกระเป๋ามาตัดเป็นแผ่นตามแพตเทิร์นอย่างละ 1 แผ่นเตรียมไว้
ต่อมานำหนังกับกระดาษ ปะเก็นและผ้าซับกับแผ่นรองกระเป๋ามาติดด้วยกาว ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีให้กาวแห้ง นำส้อมตอกหนังมาวางบนกระเป๋า ใช้ค้อนทุบตอกเป็นรูตามรอยที่มาร์คจุดไว้ เพื่อความสะดวกในการเย็บ และให้นำเข็ม 2 อัน มาร้อยเชือกเทียน โดยใช้เข็ม 1 อันต่อเชือกเทียน 1 เส้น จากนั้นเริ่มเย็บตามรูตอกที่มาร์คจุดไว้ เย็บจากด้านบนลงด้านล่างกระเป๋า หรือจากล่างขึ้นบนก็ได้ เลือกตามความถนัด โดยเย็บเพียง 1 รอบเท่านั้น เมื่อเย็บเสร็จแล้วใช้ไฟแช็กตัดเชือกเพื่อให้เก็บปมได้ง่ายขึ้น จากนั้นเย็บแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบรูที่มาร์คจุดไว้ก็จะได้ทรงกระเป๋า นำหนังไปตัดขึ้นหูกระเป๋า โดยตัดเป็นแนวเส้นตรง จำนวน 4 เส้น จากนั้นนำหนังเส้นมาเย็บประกบกันหูละจำนวน 2 เส้นก็จะ ได้หูกระเป๋า นำมาเย็บกับตัวกระเป๋าก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ
“ทุกขั้นตอนต้องใจเย็น ๆ ต้องใช้ความประณีตมาก ๆ เพราะ ถ้าเสียหาย หรือมีตำหนิจะทำให้ขายไม่ได้ หรือราคาตก หรือไม่ก็ อาจต้องทิ้งไปเลย ไม่สามารถนำกลับมาทำใหม่ได้”...เป็นคำแนะนำ จากเจ้าของชิ้นงาน “กระเป๋าหนังผสมผสานกระดาษ” ที่เกิดจาก “ความช่างสังเกต” สิ่งของรอบ ๆ ตัว จนนำมาใช้เป็น “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจ-ทำขายได้
**************
สนใจงาน “กระเป๋าหนังผสมผสานกระดาษ” ชมรูปแบบสินค้าได้ที่ ร้าน The Selected ชั้น 3 ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ และที่ ร้าน Liberty Area One ถนนเอกมัย ซอย 10 หรือที่ร้าน Green Thai Product ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งชิ้นงานน่าสนใจ ที่ใช้ “การผสมผสานวัสดุ” มาเป็นจุดเด่น-จุดขาย.
สุรางค์รัตน์ เจนการ : เรื่อง / สุนิสา ธนพันธสกุล : ภาพ
ทุนเบื้องต้น ประมาณ 10,000 บาท
ทุนวัสดุ ประมาณ 40% จากราคา
รายได้ ราคา 1,350-3,150 บาทต่อใบ
แรงงาน 1 คนขึ้นไป
ตลาด กลุ่มของใช้, ตลาดนัดงานฝีมือ
จุดน่าสนใจ เพิ่มมูลค่าจากการใช้วัสดุ
credit by : http://www.dailynews.co.th/Content/Article/283953/‘กระเป๋าหนัง%2Bกระดาษ’+ทำเงินจาก+‘วัสดุผสมผสาน’
ขายของได้ทุกที่ บนรถขายขายของเคลื่อนที่ ได้ทั้งของกินและเครื่องดื่ม
ตัวอย่างอาชีพค้าขายที่ไม่ง้อทำเล(รูป)ตอน 1-12
download ...http://bit.ly/2kYAKOt
ตัวอย่างอาชีพค้าขายที่ไม่ง้อทำเล(รูป)ตอน 1-12
download ...http://bit.ly/2kYAKOt
Adv