FAKE FRUIT หรือ ผลไม้ประดิษฐ์ ที่ใช้แต่งบ้าน แต่งร้าน อย่างร้านอาหาร จะนำผลไม้และผักประดิษฐ์ไปตกแต่งตู้อาหาร แทนผักผลไม้สด ถือเป็นการย่นระยะเวลาการทำธุรกิจ และยังให้ความสวยตลอด เพราะไม่เน่าเสีย
ในช่วงภาวะเศรษฐกิจ ซวนเซ ส่งผลกระทบมาถึงผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกับผู้ที่มีตลาดจำหน่ายสินค้าไปยังต่างประเทศ ดูเหมือนจะได้รับแรงกระเทือนหนัก บางแห่งปิดตัวลง หรือไม่ก็กลายเป็นลูกหนี้ เพราะหยิบยืมเงินมากอบกู้ธุรกิจหลาย คนอาจถอยหลัง เพราะเล็งเห็นแล้วว่า ถ้าตลาดหลักไปไม่รอด ก็ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ แต่หากคิดเช่น คุณฐิติวรรณ นันทนพิบูล หญิงสาววัย 46 ปี เจ้าของธุรกิจผลไม้และผักประดิษฐ์ ภายใต้ชื่อ FAKE FRUIT ที่จุดเริ่มต้นกับการทำธุรกิจของเธอ มุ่งตรงเพียงตลาดเดียวในประเทศสหรัฐอเมริกา มิหนำซ้ำการได้มาซึ่งยอดขายและรายรับ ยังต้องพึ่งพาบริษัทส่งออกเป็นผู้กระจายสินค้าป้อนใส่มือผู้บริโภคจวบจนสภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเกิดกับประเทศสหรัฐอเมริกา สั่นสะเทือน จากยอดขายปีละ 15 ล้านบาท ตกฮวบมาอยู่กับตัวเลขไม่ถึง 10 ล้านบาท
สัญญาณความไม่แน่นอนอุบัติขึ้น แต่หาใช่ปัญหาสุดทางแก้ไข คุณฐิติวรรณ เลือกเปิดตลาดมุมใหม่ เจาะเป้าหมายในประเทศอีกทางหนึ่ง และนี่คือวิถีทางออก
ช่วยทำดอกไม้ประดิษฐ์ เป็นเจ้าของธุรกิจอิสระ รายละเอียดเรื่องราวการก้าวสู่ธุรกิจเป็นเช่นไรนั้น คุณฐิติวรรณ กล่าวไว้ดังนี้ จริงแล้วตัวเองไม่คิดทำธุรกิจอิสระ แต่เพราะจังหวะมากกว่า หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พอดีว่าอาทำธุรกิจผลิตจำหน่ายดอกบัวประดิษฐ์อยู่ก่อนแล้ว จึงเข้าไปช่วย แต่ไม่นานนัก อาหยุดกิจการ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่ายังมีอนาคต จึงนำความรู้และประสบการณ์ก้าวออกมาเปิดธุรกิจของตัวเองจากจุด เริ่มต้นกับช่องทางจัดจำหน่าย มุ่งส่งไปยังตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้ต้องสู้รบกับผู้ผลิตมากหน้าหลายตา โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งมีข้อได้เปรียบตรงวัตถุดิบราคาต่ำ จึงสามารถผลิตสินค้าออกจำหน่ายได้ในราคาถูก
เริ่มต้นการทำธุรกิจ ไม่มีปัญหาอะไร เพราะคู่แข่งน้อยราย กระทั่งมาเจอประเทศจีน อันนี้ยอมรับว่าเหนื่อย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปคงไม่ไหวแน่ จึงหาทางสร้างสินค้าใหม่ แต่ยังเอาใจตลาดต่างประเทศเหมือนเดิม ซึ่งก็คิดถึงผลไม้ประดิษฐ์ อันเนื่องจากเห็นความต้องการของลูกค้า
คุณฐิติวรรณใช้ระยะเวลาศึกษากระบวนการผลิตและวัตถุดิบด้วยตัวเอง กระทั่งทราบส่วนประกอบหลักว่า มี โฟม และแป้งกาว ซึ่งส่วนผสมของแป้งกาวนับว่าสำคัญมาก หากคุณภาพไม่ดี หมายถึงมาตรฐานสินค้าไม่ผ่านสู่กระบวนการส่งออก
ผู้ประกอบการคนขยัน ใช้เวลาคิดค้นสูตรแป้งกาว อยู่นานวัน กระทั่งลงตัว จึงเริ่มต้นผลิตผลไม้ชิ้นเล็กๆ สำหรับติดประดับต้นคริสต์มาส จวบจนต่อมาพัฒนาเพิ่มความหลากหลาย โดยผลิตสินค้าเลียนแบบผักและผลไม้อีกนับรายการไม่ถ้วน โดยแต่ละชนิดจะให้ความพิถีพิถันสมจริง
เริ่มต้นผลิตผลไม้ประดิษฐ์ชิ้นเล็กๆ ไว้ติดประดับต้นคริสต์มาส กระทั่งต่อมา ลูกค้าถามถึงผลไม้ประดิษฐ์อื่น เขาต้องการนำไปประดับตกแต่งบ้าน ตกแต่งร้าน จึงผลิตขึ้นมารองรับ แต่แรกๆ ยังคงเน้นผลไม้ที่ต่างประเทศคุ้นเคย อย่าง แอปเปิ้ล อะโวกาโด ส่วนวิธีจะให้สมจริงนั้น จำต้องซื้อผลไม้จริงมาเทียบ
สำหรับ ตลาดหลัก มุ่งส่งไปประเทศสหรัฐอเมริกา โดยขายผ่านบริษัทส่งออก เรื่องตลาดถือว่าเติบโตดีมาก หากไม่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วงเกิดกับประเทศสหรัฐอเมริกา จากยอดขายปีละ 15 ล้านบาท ตกฮวบเหลือ 8-9 ล้านบาท ตอนนั้นเริ่มคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรดี เพราะเคยลองทำตลาดยุโรป ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ถึงคราวแล้วที่ต้องมองตลาดใกล้ตัว
คุณฐิติวรรณใช้เวลาเดินเที่ยว ชมตลาดนัดจตุจักร พร้อมทั้งมองหาทำเลเหมาะ กระทั่งได้ห้องค้าบริเวณโครงการ 8 ด้วยอัตราเช่าเดือนละ 20,000 บาท จากนั้นนำผลิตภัณฑ์จัดวาง ซึ่งผลตอบรับเกินคาดหมาย เพราะไม่เพียงได้ลูกค้าคนไทย แต่แถบประเทศโซนเอเชีย โดยเฉพาะ เวียดนาม และมาเลเซีย ให้ความสนใจซื้อทั้งปลีกและส่ง
ปี 2552 ทดลองตลาดในประเทศ กับการเปิดหน้าร้านเป็นของตนเองที่ตลาดนัดจตุจักร ผลตอบรับดีมาก ได้ลูกค้าหลากหลาย เฉพาะขายปลีกตกสัปดาห์ละ 20,000 บาท นอกจากนั้น ยังมียอดสั่งซื้อเพื่อนำไปขายต่อ ครั้งละประมาณ 20,000-30,000 บาท โดยประเทศให้ความสนใจแถบเอเชีย ซึ่งหันมานิยมแต่งบ้าน แต่งร้าน หรืออย่างคนไทยที่ประกอบธุรกิจร้านอาหาร จะนำผลไม้และผักประดิษฐ์ไปตกแต่งตู้อาหาร แทนผักผลไม้สด ถือเป็นการย่นระยะเวลาการทำธุรกิจ และยังให้ความสวยตลอด เพราะไม่เน่าเสีย
คุณฐิติวรรณ ยังกล่าวถึงการก้าวสู่ตลาดในประเทศว่า ข้อดีอีกประการคือ รายได้ ตลาดในประเทศสามารถทำกำไรถึง 35 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าส่งออกกำไร 20-25 เปอร์เซ็นต์ อาศัยว่าได้จำนวน ซึ่งกับการหันมาจับตลาดในประเทศ ถือว่าได้กลุ่มลูกค้ากระจาย ความเสี่ยงน้อยลง
ถาม ไปถึงคุณภาพสินค้า ยังคงเป็นมาตรฐานเดียวกับส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกาหรือไม่ ทั้งนี้ คุณฐิติวรรณ ยังคงยืนยันหนักแน่น เริ่มต้นของการผลิต 100 เปอร์เซ็นต์ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าเขาเข้มงวดเรื่องผลิตภัณฑ์มาก สำคัญคือต้องไม่มีสารตะกั่วตกค้าง เหตุนี้ FAKE FRUIT ผลไม้ประดิษฐ์จึง ส่งผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบกับ บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด กระทั่งได้รับใบรับรองผล สามารถทำการค้าส่งออกได้ แต่พอกลับมาตลาดในประเทศ FAKE FRUIT ผลไม้ประดิษฐ์ยังคงให้ความสำคัญกับคุณภาพต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ไม่ เพียงคุณภาพมาตรฐาน แต่ความโดดเด่นอีกประการคือความละเอียดพิถีพิถัน สินค้าต้องเลียนแบบได้ใกล้เคียงของจริงที่สุด ด้วยเหตุนี้ รูปแบบการผลิตจึงแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ งานเคลือบแป้งกาว และงานพอกแป้งกาว อีกทั้งในเรื่องของน้ำหนักต้องสมจริงด้วย ซึ่งก็ไม่ยาก อาศัยอัดเม็ดทรายลงไปในก้อนโฟม
วิธีทำผลไม้ประดิษฐ์
ดังนี้ นำแผ่นโฟมาตัดเป็นสี่เหลี่ยม แล้วขึ้นรูปโดยแม่พิมพ์ เพื่อให้เกิดรูปร่างตามชนิดของผลไม้นั้นๆ สำหรับผลไม้ที่มีผิวเรียบ อาทิ แอปเปิ้ล มะม่วง ให้ใช้กระบวนการเคลือบ โดยจุ่มก้อนโฟมในแป้งกาว 3-4 ครั้ง หรือจนกระทั่งปิดโฟมมิด จากนั้นรอให้แห้ง ส่วนผักและผลไม้ที่มีพื้นผิวไม่สม่ำเสมอ อาทิ ฝรั่ง มะนาว ส้ม กะหล่ำปลี ใช้วิธีพอก คือ นำแป้งกาวที่มีลักษณะจับตัวเป็นก้อนพอกลงบนก้อนโฟม โดยใช้แม่พิมพ์ช่วยให้เกิดลวดลายสมจริง แล้วรอแห้ง จึงลงสีด้วยพู่กัน เก็บรายละเอียด แล้วจึงเคลือบเงา เพื่อให้เกิดความสวยงามและคงทนสูตรแป้งกาว ต้องมี 2 แบบ เพื่อให้เหมาะกับชิ้นงานแต่ละประเภท ซึ่งในส่วนของสูตรการทำแป้งกาว ใช้แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว และกาว เป็นสำคัญ ฉะนั้น ต้องระวังมดแมลงหรือหนูมากัดแทะ แต่ในเรื่องของความคงทน ยาวนานหลายปี
ปัจจุบัน FAKE FRUIT ผลไม้ประดิษฐ์มีแรงงานผลิตกว่า 20 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มงานเคลือบแป้งกาว ซึ่งจะประจำอยู่โรงงานในกรุงเทพฯ ซึ่งแต่ละคนรับอัตราค่าจ้างเป็นรายวันและรายเดือน ส่วนกลุ่มงานพอกแป้งกาว จัดจ้างแรงงานชาวบ้านในจังหวัดอ่างทอง ช่วยผลิต โดยให้อัตราค่าจ้างเป็นรายชิ้น
แรงงานต้องใช้ระยะเวลาฝึกฝน เพราะแต่ละคนเขาไม่มีความรู้เรื่องศิลปะมาก่อน แต่ยอมรับว่าทุกคนมีความตั้งใจ เรื่องปัญหาแรงงานจึงไม่เกิดขึ้น ถือเป็นความโชคดีในการทำธุรกิจด้วย ฉะนั้นอยากจะฝากทิ้งท้ายว่า เรื่องการบริหารคน สำคัญมาก ต้องให้เขารู้สึกสนุกและสุขกับการทำงาน
สนใจ ติดต่อ FAKE FRUIT ผลไม้ประดิษฐ์เดินทางไปได้ที่ ตลาดนัดจตุจักร เลขที่ 395-396 โครงการ 8 ซอย 15/4 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ หรือ โรงงานผลิต ตั้งอยู่ เลขที่ 15 เฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซอย 14 เขตประเวศ กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 398-2059
ที่มา : มติชน เส้นทางเศรษฐ๊ ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
-------------------------------------------------------------------------------------------------
ขายของได้ทุกที่ บนรถขายขายของเคลื่อนที่ ได้ทั้งของกินและเครื่องดื่ม
ตัวอย่างอาชีพค้าขายที่ไม่ง้อทำเล(รูป)ตอน 1-12
download ...http://bit.ly/2kYAKOt
ตัวอย่างอาชีพค้าขายที่ไม่ง้อทำเล(รูป)ตอน 1-12
download ...http://bit.ly/2kYAKOt
Adv