“งานพิมพ์ผ้า” ยังเป็นไอเดียทำเงินได้ เพราะนอกจากจะขายเฉพาะ “ผ้าพิมพ์ลาย” แล้ว ยังสามารถนำมาดัดแปลงเป็นสินค้าประเภทต่าง ๆ เพื่อขายได้อีกด้วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าพันคอ กระเป๋าพิมพ์ลาย เป็นต้น ซึ่งถ้าหากลวดลายที่ออกแบบนั้น โดดเด่น หรือมีดีไซน์เก๋ ๆ ที่โดนใจกับกลุ่มเป้าหมายก็ไม่ยากที่จะยึดเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ทำเงิน ที่วันนี้ คอลัมน์นี้ก็มีข้อมูลมานำเสนอให้พิจารณากัน
อรุณโรจน์ บุญฉลอง-อารีนา ปิ่นมุข สองสาวเจ้าของชิ้นงานผ้าพิมพ์ลาย ที่ใช้ชื่อสินค้าว่า MAMAD เล่าว่า ก่อนหน้าจะมาผลิตชิ้นงานนี้ ได้เคยทำงานด้านการออกแบบมาก่อน ต่อมามีความคิดที่อยากจะทำธุรกิจของตนเองขึ้นมา จึงมองไปที่ความถนัดที่ทั้งคู่มีอยู่ โดยมองไปที่ “งานออกแบบลวดลาย” ซึ่งหลังจากลองผิดลองถูกอยู่ระยะหนึ่งก็มาลงตัวจนเกิดเป็นชิ้นงานผ้าพิมพ์ ลายอย่างที่เห็นนี้ และต่อยอดจนเกิดเป็นสินค้าหลายชนิดในปัจจุบัน ซึ่งชิ้นงานที่เราทำขึ้น อาจจะมีขั้นตอนมากกว่าการทำทั่วไป แต่ข้อดีคือ สินค้าที่ได้จะแปลกแตกต่างออกไปจากที่มีอยู่ในตลาด โดยหลังนำชิ้นงานออกขายปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดี โดยปัจจุบันชิ้นงานที่ผลิตขึ้นมี อาทิ เสื้อ, กระโปรง, ผ้าพันคอ, ผ้าคลุมไหล่, กระเป๋า ฯลฯ
“จุดเด่นของชิ้นงาน อยู่ที่ลวดลายและสีที่ใช้ จะแปลกและมีเอกลักษณ์เฉพาะ เพราะลายทุกแบบที่คิดขึ้นจะพยายามใส่รายละเอียดให้แตกต่างจากตลาด เพื่อให้ลูกค้าจดจำชิ้นงานได้ ที่สำคัญจะเลือกใช้ผ้าที่เกรดสูงหน่อย และเน้นในเรื่องของคุณภาพการตัดเย็บ” ...เจ้าของชิ้นงานกล่าว พร้อมย้ำว่า ในเรื่องของ “การบริการ” ก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเน้นรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้า จากนั้นจึงนำเอามาปรับใช้ในการผลิตชิ้นงาน เพื่อให้ตรงความต้องการลูกค้ามากที่สุด
ทุนเบื้องต้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 50,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าพิมพ์ลายผ้า และค่าตัดเย็บ ทุนวัสดุ อยู่ที่ 50% จากราคา ซึ่งราคาขายอยู่ที่ 200-1,000 บาท
วัสดุอุปกรณ์ ประกอบด้วย ผ้า (ผ้าซิลค์นาโน ผ้าไหมอิตาลี หรือผ้าชนิดอื่น ๆ), คอมพิวเตอร์, เครื่องพรินเตอร์, จักรเย็บผ้า และอุปกรณ์ที่ใช้ในการวาดภาพ เช่น ดินสอ กระดาษ ปากกาเมจิก เป็นต้น
ขั้นตอนการทำ การนำผ้าพิมพ์ลายตัดเป็นเสื้อผ้า มีขั้นตอนดังนี้ เริ่มจากการทำแพทเทิร์นเสื้อโดยวาดชิ้นส่วนของเสื้อที่จะใช้ลงบนกระดาษ ทำการตัดเพื่อให้ได้แพทเทิร์นของเสื้อ จากนั้นนำแพทเทิร์นที่ได้ไปทาบลงบนผ้าที่ได้เตรียมหรือเลือกไว้ ทำการตัดตามแบบ ทำการเย็บเพื่อทำเป็นเสื้อต้นแบบขึ้นมา
ขั้นตอนการออกแบบลายที่จะนำไปพิมพ์ลงบนเสื้อนั้น เริ่มจากออกแบบลวดลายที่ต้องการ โดยใช้ดินสอหรือปากกาวาดลายที่ต้องการลงบนแผ่นกระดาษ เมื่อได้ลวดลายที่ต้องการแล้ว นำไปจัดทำแบบและวางตำแหน่งของลวดลาย หรือองค์ประกอบบนเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปด้านการออกแบบช่วย จากนั้นเมื่อออกแบบตกแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการเซฟไฟล์ที่ได้ออกแบบไว้นั้นลงอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล นำส่งโรงพิมพ์พร้อมชิ้นผ้าที่ได้เลือกไว้ เพื่อทำการพิมพ์ลวดลาย เมื่อได้ผ้าที่พิมพ์ลายแล้ว จึงนำผ้าที่ได้เพื่อนำไปตัดเย็บเพื่อขึ้นตัวเสื้อตามที่ได้ออกแบบไว้
การทำผ้าพันคอและกระเป๋า มีขั้นตอนการผลิตคล้าย ๆ กันคือ เริ่มจากออก แบบลาย และนำไปวาดลงบนกระดาษ จากนั้นตกแต่งและจัดวางองค์ประกอบด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์บนเครื่องคอมพิว เตอร์ จากนั้นส่งไปพิมพ์เพื่อพิมพ์ลาย และนำผ้าที่ได้เพื่อมาทำการตัดเย็บเป็นผ้าพันคอและกระเป๋า
“งานผ้าพิมพ์ลายนี้ ส่วนใหญ่ที่ร้านจะเน้นที่การออกแบบเป็นหลัก โดยจะตัดขั้นตอนการขึ้นรูปชิ้นงานด้วยการส่งไปผลิตอีกทีหนึ่ง ทั้งนี้ คนที่สนใจที่จะทำงานฝีมือทางด้านนี้ ควรมีทักษะทางศิลปะ เช่น การออกแบบ ความรู้เกี่ยวกับสีและองค์ประกอบของภาพ แต่ทั้งหมดนี้ก็สามารถที่จะฝึกฝนทดลองทำก่อนได้ ทั้งนี้ จุดสำคัญที่สุดก็คือ ไม่ควรก๊อบปี้งาน แต่ควรจะสร้างสรรค์ชิ้นงานและลวดลายจากความคิดของตัวเองจะดีที่สุด เพราะจะทำให้สินค้าที่ทำขึ้นมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนกับใคร”...นี่เป็น คำแนะนำสำหรับคนที่คิดจะยึดงานฝีมือประเภทนี้ ใช้เป็น “ช่องทางทำกิน”
งาน “ผ้าพิมพ์ลาย” โทร. 08-0952-9914 ทั้งนี้ เจ้าของชิ้นงานไม่มีหน้าร้าน แต่อาศัยการออกร้านตามตลาดนัดงานฝีมือ หากสนใจสามารถเข้าไปชมได้ที่ www.mamadshop.com หรือ www.facebook. com/mamashop88 และนี่ก็เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่เกี่ยวกับงานผ้า ซึ่งยังทำเงินได้...ถ้าหากว่า
มีจุดเด่น-มีไอเดียโดน ๆ.
ทุนเบื้องต้น ประมาณ 50,000 บาท
ทุนวัสดุ ประมาณ 50% จากราคา
รายได้ ราคา 200-1,000 บาท
แรงงาน 1 คนขึ้นไป
ตลาด ไม่ต้องมีหน้าร้าน ขายออนไลน์
จุดน่าสนใจ สร้างจุดเด่นด้วยลายผ้า
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน
credit by : http://www.dailynews.co.th/Content/Article/248219/‘ผ้าพิมพ์ลาย’+ลายเก๋%2Bแบบเด่น..โดนใจ!
Read More...