งานแฮนด์เมดอย่างงานปั้นดินญี่ปุ่นเป็นรูปการ์ตูน เป็นรูปสัตว์ แนวน่ารัก ๆ สามารถดัดแปลง สร้างสรรค์ออกมาเป็นสินค้าได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นตุ้มหู สร้อยคอ ที่ห้อยโทรศัพท์มือถือ และที่กำลังเป็นที่นิยมกันในปัจจุบันด้วย ก็คือ “จุกกันฝุ่นเข้าโทรศัพท์มือถือ” ซึ่งทางทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอให้พิจารณากันในวันนี้..
“งานปั้นดินญี่ปุ่นนั้นเป็นงานที่มีคนทำกันเยอะ คู่แข่งทางการตลาดก็เยอะตามไปด้วย เพื่อที่งานของเราจะอยู่ในตลาดและเป็นที่สนใจของลูกค้าได้ เราจะต้องคิดทำชิ้นงานออกมาให้ดูน่ารัก คิกขุ มีเอกลักษณ์ตามแบบฉบับของตัวเอง พอลูกค้าเห็นก็ต้องรู้ว่านี่เป็นงานของเรา” เจ้าของงานปั้นดินญี่ปุ่น แบรนด์ “cute-monster” กล่าว
ปู-วิภาดา ยืนยงค์ และ นิว-วิวัฒน์ เพื่อวงษ์ สร้างสรรค์งานปั้นดินญี่ปุ่น เป็นสินค้าหลากหลาย จำหน่ายภายใต้แบรนด์นี้ ซึ่งทั้ง 2 คนนี้ คนหนึ่งจบทางด้านการออกแบบภายใน อีกคนจบมาทางด้านโฆษณา โดยปูบอกว่า งานปั้นดินญี่ปุ่นนั้นทำมาตั้งแต่สมัยเรียน เนื่องจากเป็นคนที่ชอบงานปั้นมาตั้งแต่เด็ก และก็ได้มาเรียนออกแบบ ก็จะต้องมีการปั้นโมเดลส่งอาจารย์ พอเริ่มปั้นโมเดล ความชอบปั้นดินตั้งแต่เด็กก็เกิดขึ้นมา จึงมีความคิดที่จะปั้นดินเป็นการ์ตูน เพราะคิดว่างานปั้นดินญี่ปุ่นนั้นเป็นงานที่มีจุดเด่นมีสไตล์ที่ดูสวยน่ารัก และที่สำคัญสามารถดัดแปลงเป็นสินค้าได้หลากหลาย
“เริ่มศึกษาเรื่องดินต่าง ๆ ที่จะนำมาทำจากอินเทอร์เน็ต และทดลองทำมาเรื่อย ๆ เรียนรู้เรื่องการทำอย่างไรให้งานมีความคงทนแข็งแรง เรื่องรูปแบบสินค้าก็มานั่งออกแบบให้ลงตัวให้มีจุดเด่นในตัวเอง ก็ใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่นานจนได้งานที่ลงตัว ในตอนแรกก็ไม่ได้คิดจะทำขาย จะทำใช้เอง ทำให้เพื่อนเป็นของขวัญ แต่พองานเริ่มลงตัวน่ารักเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ก็เริ่มทำออกจำหน่ายเป็นงานอดิเรกหารายได้เสริม โดยใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ตเป็นหน้าร้าน”
หลังจากเรียนจบออกมาก็เข้าทำงานประจำอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังทำงานปั้นเป็นอาชีพเสริมอยู่เหมือนเดิม มาระยะหลังออร์เดอร์งานปั้นเริ่มเข้ามา
เยอะขึ้น ก็ต้องเร่งทำงานมากขึ้นเพราะเป็นงานแฮนด์เมด ปั้นจากมือทุกชิ้นทุกขั้นตอนจึงใช้เวลามากในการทำ จึงตัดสินใจออกจากงานประจำที่
ทำมาทำงานปั้นดินขายอย่างเดียว เพื่อที่จะทุ่มเทให้กับงานที่ชอบอย่างจริงจัง ซึ่งก็ทำงานปั้นอย่างจริง ๆ จัง ๆ มาก็ 1 ปีกว่าแล้ว
ปู-นิว ร่วมกันบอกว่า งานที่ทำนั้นมีจุดเด่นที่ความน่ารักและเป็นเอกลักษณ์ของการ์ตูนที่ออกแบบและ ปั้นออกมา เป็นแบบที่ไม่เหมือนใคร เพราะการ์ตูนทุกตัวจะออกแบบเอง คิดขึ้นมาเอง
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำหลัก ๆ มีดังนี้คือ...ดินญี่ปุ่น, สีอะคริลิก, กาวร้อน, ลวด, พู่กัน, แล็กเกอร์ และอุปกรณ์สำหรับที่จะนำงานปั้นไปทำเป็นสินค้าอะไร อย่างพวก สายสร้อยสำหรับทำสร้อยคอ ที่ห้อยโทรศัพท์ ตุ้มหู และถ้าทำเป็น “จุกปิดกันฝุ่นโทรศัพท์มือถือ” ก็ใช้จุกอุดรูหูฟัง หรือที่เรียกกันว่า “ปักกี้”
วัสดุอุปกรณ์นั้นสามารถหาซื้อได้ที่ย่านตลาดสำเพ็ง
ดินญี่ปุ่นที่ใช้นั้นจะเป็นสีขาว การผสมสีในดินใช้การผสมสีที่เป็นแม่สีหลัก ๆ ได้แก่ สีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง ส่วนสีอื่น ๆ ก็เป็นสีดำ การผสมก็ไม่ยาก ก็ให้ใช้สีอะคริลิกเทใส่ผสมลงในดินแล้วทำการนวดให้สีนั้นเข้าเป็นเนื้อเดียว กับเนื้อดิน
ถ้าในการปั้นต้องการใช้สีอื่น ก็ใช้วิธีการนำดินที่ผสมเป็นแม่สีไว้แล้วมาผสมกันให้ได้สีตามที่ต้องการ แล้วก็ทำการนวดดินให้ผสมเข้ากันเป็นเนื้อเดียว ก็จะได้ดินตามสีที่ต้องการ
วิธีการทำ เริ่มจาก...การออกแบบตัวการ์ตูนที่ต้องการจะทำลงบนคอมพิวเตอร์ การออกแบบลงบนคอมพิวเตอร์นั้นสามารถที่จะใส่สีและเห็นสีได้สมจริง แต่ถ้าไม่มีทักษะทางคอมพิวเตอร์จะใช้วิธีร่างแบบลงบนกระดาษก็ได้
หลังจากที่ได้แบบการ์ตูนที่ต้องการแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการปั้น โดยนำดินมาผสมให้ได้สีตามแบบที่ออกไว้ โดยการปั้นนั้นจะแบ่งปั้นเป็น 2 ส่วน คือส่วนหัวของการ์ตูน และส่วนตัวของการ์ตูน เริ่มจากปั้นส่วนหัวก่อน จากนั้นก็มาปั้นส่วนตัว หลังจากปั้นเสร็จทั้งสองส่วนก็นำมาประกอบติดเข้าด้วยกัน โดยใช้ลวดเสียบระหว่างส่วนหัวและส่วนตัวเพื่อยึดติด
ประกอบตัวการ์ตูนเสร็จแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ให้ดินแห้งสนิท จะนำไปตากแดดหรือจะเข้าห้องอบเพื่อให้ดินแห้งเร็วขึ้นก็ได้ หลังจากที่การ์ตูนแห้งสนิทแล้วก็ให้หยอดกาวที่รอยต่อของส่วนหัวและส่วนตัว เพื่อความแข็งแรงแน่นหนาอีกที
พอกาวแห้งก็ทำการตกแต่งวาดลวดลายหน้าตาและรายละเอียดต่าง ๆ ตัวการ์ตูน การวาดนั้นจะใช้พู่กันจุ่มสีอะคริลิกวาด จากนั้นก็ทำการพ่นแล็กเกอร์เคลือบ
ไม่ควรใช้ปากการหมึกซึมในการวาดลวดลาย เพราะเวลาพ่นเคลือบเส้นที่วาดจะแตก ทำให้ดูเลอะ ไม่สวย...
พอแล็กเกอร์แห้งก็นำตัวการ์ตูนไปติดกับปักกี้ (จุกกันฝุ่น) ยึดติดด้วยกาวให้แน่นหนา เท่านี้ก็เรียบร้อย
แต่ถ้านำตัวการ์ตูนปั้นไปทำเป็นสร้อยคอ หรือตุ้มหู ก็จะต้องใส่ห่วงตั้งแต่ตอนที่ปั้นเสร็จ ตอนที่ดินยังไม่แห้ง
“จุกปิดกันฝุ่นโทรศัพท์มือถือ” งานแฮนด์เมดปั้นจากดินญี่ปุ่นของ ปู-นิว มีอยู่ 2 ขนาด ขนาดเล็กราคา 50 บาท ขนาดใหญ่ราคา 65 บาท นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่นำดินปั้นมาทำอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสร้อยคอ ตุ้มหู ที่ห้อยโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ซึ่งมีราคาขายตั้งแต่ 45-200 บาท โดยราคานั้นขึ้นอยู่กับขนาดและรูปแบบของสินค้า
ใครสนใจงานแฮนด์เมดปั้นดินญี่ปุ่นทำเป็น ’จุกปิดกันฝุ่นโทรศัพท์มือถือ“ และสินค้าอื่น ๆ ของแบรนด์นี้ เข้าไปดูแบบงานได้ที่ http://www.cute-monster.com หรือที่ http://www.facebook.com/cutemonstershop หรือต้องการติดต่อกับเจ้าของกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ รายนี้ทางโทรศัพท์ ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 08-0136-6672, 08-7989-0798.
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์
.........................................
คู่มือลงทุน...ตุ๊กตาจุกมือถือ
ทุนเบื้องต้น ประมาณ 1,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัสดุ ประมาณ 50% ของราคา
รายได้ ราคาชิ้นละ 50-65 บาท
แรงงาน 1 คน
ตลาด ลงขายทางอินเทอร์เน็ต
จุดน่าสนใจ สอดรับกับยุคสมัยใช้มือถือ
credit : http://www.dailynews.co.th/article/384/161817
ขายของได้ทุกที่ บนรถขายขายของเคลื่อนที่ ได้ทั้งของกินและเครื่องดื่ม
ตัวอย่างอาชีพค้าขายที่ไม่ง้อทำเล(รูป)ตอน 1-12
download ...http://bit.ly/2kYAKOt
ตัวอย่างอาชีพค้าขายที่ไม่ง้อทำเล(รูป)ตอน 1-12
download ...http://bit.ly/2kYAKOt
Adv