เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ“ขายเครื่องสังฆภัณฑ์” จึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าพิจารณา ซึ่งก็ทำได้หลายรูปแบบและวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีมาแนะนำกันอีกแบบหนึ่ง.
นะริศธิ์ ชูศรี เป็นหัวเรือใหญ่ธุรกิจ “ชุดสังฆทานรูปแบบใหม่” ในชื่อ “สายธารบุญ”ปรับโฉมสังฆทานให้ใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเจ้าตัวเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้ว่าเพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงชอบเข้าวัดทำบุญเป็นประจำ
ทำให้สังเกตเห็นว่า คนที่ไปทำบุญถวายสังฆทานมักเลือกซื้อชุดสังฆทานที่เป็น ถังสีเหลืองๆซึ่งข้าวของเครื่องใช้ที่บรรจุอยู่ภายในนั้น มักใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ บางอย่างหมดอายุบางอย่างเป็นสิ่งไม่จำเป็น และบางอย่างไม่เหมาะสมกับพระภิกษุสงฆ์
ด้วยความคุ้นเคยกับพระสงฆ์ในวัด จึงสอบถามว่าของแบบไหนจำเป็นกับพระสงฆ์ของแบบไหนที่พระสงฆ์ใช้ได้ ไม่ขัดกับพระธรรมวินัย และก็กลายเป็นอาชีพ
“มีผู้ใหญ่ที่นับถือแนะนำด้วยว่า ให้ทำพวกข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ เช่น ซองแว่นตา ซองช้อนส้อม เป็นต้น ให้ทำไปถวายพระ พระท่านชอบ คนที่เห็นก็ชม ผมก็เกิดปิ้งไอเดียจึงไปปรึกษากับ คุณวรรณา จันทร์อุดม หรือ ทนายจอย ซึ่งอยู่หมู่บ้านเดียวกัน มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำตรงนี้”
หลังจากนั้นก็เริ่มเดินหน้าสานต่อก่อเกิดขึ้นเป็นธุรกิจ มีการเชิญชวนบรรดาแม่บ้านในชุมชนมาร่วม
มาช่วยกันออกความเห็นและแบ่งงานกันทำตามความถนัด เป็นการเสริมรายได้จุนเจือครอบครัว
ซึ่งเมื่อมีทีมงานเรียบร้อยแล้วขั้นตอนต่อไปคือหาวัตถุดิบ ประเภทผ้าเพื่อนำมาตัดเย็บเป็นของใช้จำเป็นสำหรับพระภิกษุ โดยรูปแบบจะเน้นความเรียบง่ายเป็นหลักเพราะการทำของใช้เกี่ยวกับพระถ้าทำให้เหมือนของใช้ทั่วไปจะไม่เหมาะ
“ใช้เวลาอยู่นานเหมือนกันกว่าจะมาลงตัวที่ชุดสังฆทานปัจจุบัน ที่ผมให้คำจำกัดความเพื่อให้ลูกค้าจำง่ายคือสังฆทานอินเทรนด์ สังฆทานรูปแบบใหม่ ไม่มีวันหมดอายุ ไม่มีการนำเครื่องบริโภคมาบรรจุไว้เลย
แต่เป็นการรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ โดย ชุดสังฆทานอเนกประสงค์ จะประกอบด้วย กระเป๋าอเนกประสงค์,ซองใส่ช้อนและส้อม, ซองใส่แว่นตา, ผ้ารับประเคน, ผ้าเช็ดปาก, ดอกบัวทอง 3 ดอก
ซึ่งทุกชิ้นจะมีกี่ถักไหมเป็นรูปธรรมจักรประดับไว้ เป็นเครื่องหมายบ่งชี้ถึงศาสนาพุทธ”
นะริศธิ์บอกอีกว่า ตอนจะผลิตออกมาก็มีความกังวลเรื่องพระวินัยสงฆ์ หรือขนบประเพณีเกรงว่าจะทำให้พระท่านเกิดกิเลสหรือเปล่า เลยต้องใช้ความระมัดระวังมาก ทั้งรูปแบบและสีซึ่งผ้าที่นำมาใช้เป็นผ้าคอตตอน 100 เปอร์เซ็นต์ สีเดียวกับจีวร แต่ใช้สีที่เป็นกลาง ๆ ไม่เน้นว่าเป็นพระสายใดสายหนึ่ง
ขั้นตอนการผลิต ก็จะให้คนในชุมชนเป็นผู้เย็บให้โดยในช่วงแรกก็เกิดปัญหาบ้างเรื่องสีของผ้าที่นำมาเย็บ เพราะผ้าแต่ละลอตจะมีโทนสีที่แตกต่างกันในขณะที่ลูกค้าที่กลับมาซื้อซ้ำไม่ได้สีของผ้าตามที่ต้องการ ตามที่เคยซื้อไปจึงแก้ปัญหาด้วยการสั่งให้ทางโรงงานย้อมผ้าให้โดยเฉพาะ เพื่อให้ได้สีผ้าที่สม่ำเสมอ
ตอนที่เริ่มต้นนั้น ลงทุนไม่มาก แค่หลักพัน เพราะยังไม่ทราบว่าจะขายได้มากน้อยแค่ไหนจึงซื้อเศษผ้าปลายไม้มาราว 30 เมตร จากย่านพาหุรัด มาให้กลุ่มแม่บ้านทดลองทำกันดู ก็ตัดกันกระจุยกระจายเย็บออกมาแล้วเบี้ยวบ้าง ใหญ่-เล็กเกินไปบ้าง ต้องใช้เวลานานกว่า 3 เดือน ผลงานที่น่าพอใจจึงออกมาซึ่งปัจจุบันการตัดเย็บจะพิถีพิถันและละเอียดเป็นพิเศษ มีการตรวจคุณภาพทุกชิ้น วัตถุดิบที่ใช้ก็แข็งแรงทนทาน
ขั้นตอนที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากระบวนการผลิต คือ การตลาด โดยสังฆภัณฑ์รูปแบบใหม่นี้ระแยะแรกนำไปขายตามหน้าวัดในละแวก ไม่นานผลงานก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นมีคนมารับไปขายต่อ โดยราคาขายชุดสังฆทานคือชุดละ 290 บาทนอกจากนี้ ยังมีการผลิต หมอนอิง, หมอนนอน, อาสนะ, ย่าม, สบง รวมถึง ชุดปฏิบัติธรรม ของแม่ชี และฆราวาสทั่วไป
ปัจจุบันธุรกิจรายนี้ไม่ต้องมีหน้าร้านจำหน่าย เน้นการออกบูธตามสถานที่ราชการ โรงพยาบาล ย่านออฟฟิศและตอนนี้ก็มีเครือข่าย 10 จังหวัดแล้วโดยนะริศธิ์บอกว่าธุรกิจนี้กำไรก็แค่พออยู่ได้ เต็มที่ไม่เกิน 30-40% จากราคาขายแม่บ้านในชุมชนที่มาร่วมกันทำราว 30 คน แต่ละคนก็จะมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 8,000-9,000 บาทและจะมีการกันรายได้ส่วนหนึ่งเอาไปทำบุญ พิมพ์หนังสือธรรมะแจก
ชุดสังฆทาน-สังฆภัณฑ์รูปแบบใหม่ “สายธารบุญ” นี้ ทำกันอยู่ที่ ชุมชนอมรพันธ์ ถนนเลียบคูนายกิม ซอย 13แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ ใครสนใจต้องการสั่งซื้อไปใช้ทำบุญ หรือนำไปจำหน่ายต่อ
ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 08-0453-5639 นี่ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของอาชีพ หรือธุรกิจขายเครื่องสังฆภัณฑ์ที่น่าสนใจ.
เชาวลี ชุมขำ : รายงาน
ที่มา : http://www.dailynews.co.th
Read More...